CLOSE

เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม Circular Economy

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นรูปแบบของการผลิต การบริโภค ซึ่งเกี่ยวกับ การกลับนำมาใช้ใหม่ การซ่อม การรีไซเคิลวัสดุผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีชีวิตของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ให้สามารถอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถทำให้วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ยืดขยายออกไป เป็นการลดของเสียให้เหลือให้น้อยที่สุด

เมื่อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หมดอายุการใช้งาน วัสดุของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ยังจะถูกเก็บไว้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เรื่อย ๆ และยังสามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย

แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีความแตกต่างจากแนวคิดดั้งเดิมแบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่บริษัทต่าง ๆ ทำหน้าที่ในการผลิตสินค้า ผู้บริโภคมีการบริโภคสินค้า และสินค้าจะถูกกำจัดไปในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นรูปแบบที่เน้นการผลิตปริมาณมาก เน้นราคาถูก เน้นใช้วัสดุและพลังงานที่เข้าถึงง่าย นอกจากนั้นสินค้าบางประเภทในบางอุตสาหกรรมยังถูกออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานที่จำกัดเพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อซ้ำอีกครั้ง


การที่บริษัทต่าง ๆ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินงานตลอดจนกลยุทธ์ของบริษัท และสามารถสร้างคุณค่าอย่างมหาศาลต่อ ธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น ในอุตสาหกรรมการเกษตร หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนจะถูกนำมาใช้ในระบบการทำการเกษตร โดยการทำให้แร่ธาตุหรือสารอาหารที่สำคัญต่าง ๆ ถูกส่งกลับคืนสู่ดิน ผ่านกระบวนการหมักหรือการทำปุ๋ยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบในการทำการเกษตรบนผืนดินและระบบนิเวศธรรมชาติ ทำให้ดินมีสุขภาพดีมากยิ่งขึ้นและจะส่งผลต่อสมดุลที่ดีในระบบนิเวศที่ล้อมรอบ

ในอุตสาหกรรมการผลิต บริษัทสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในขั้นตอนออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ได้ และมุ่งเน้นในการพัฒนาวัฏจักรของวัสดุสินค้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น และยังสามารถทำให้ลดการปล่อยมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีการผลิตวัสดุต่าง ๆ น้อยลง

การทำอุตสาหกรรมด้วยแนวคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จะมีโอกาสประหยัดมากถึงร้อยละ 70 ที่บริษัทจะสามารถลดการใช้วัสดุจากการผลิตได้ เมื่อเทียบกับการผลิตแบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง ในทางธุรกิจนอกจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถช่วยให้บริษัทนลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว ในบางกรณีจะสามารถช่วยบริษัทสร้างรายได้ช่องทางใหม่ให้กับบริษัท (New Profit Streams) จากการที่บริษัทปรับธุรกิจให้เป็นรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งโอกาสในการสร้างกำไรอาจจะมาจากการเข้าไปทำธุรกิจในตลาดใหม่ การลดต้นทุนด้วยการลดของเสียและพลังงาน เป็นต้น

เศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างผลกระทบที่ดีอย่างมากให้กับธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ในปัจจุบันมีความท้าทายหลายอย่างที่ทำให้บางบริษัทยังไม่สามารถรับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ได้ เข่น ปัจจัยในเรื่อง สังคม สิ่งแวดล้อม ยังถูกพิจารณาว่ายังมีลำดับความสำคัญน้อยเมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้วราคาของวัสดุบางอย่างที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีต้นทุนที่สูง ซึ่งทำให้บริษัทอาจมองว่าจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง และในด้านของอุปสงค์ความต้องการในการอุปโภคบริโภคสินค้าที่มาจากการผลิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยังคงไม่เป็นที่นิยมมากนัก

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดที่จะทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินธุรกิจโดยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อ ธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจได้ ก็ต่อเมื่อได้รับความใส่ใจและความพยายามจากทั้งสองด้านคือ ด้านอุปทานและอุปสงค์ ทั้งบริษัทและผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการสร้างแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะสามารถทำให้ธุรกิจและสังคมเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross