CLOSE

ESG Materiality ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

ในปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างให้ความสำคัญในเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามประเด็นด้านความยั่งยืนสามารถพิจารณาได้ในหลากหลายประเด็น อาจจะเป็นเรื่องยากหากบริษัทจะต้องให้ความสำคัญทุกประเด็นในระดับความสำคัญ (Priority) ที่เท่า ๆ กัน จึงทำให้เกิดการจัดเรียงลำดับความสำคัญในเรื่องประเด็นด้านความยั่งยืน ที่บริษัทต่าง ๆ ควรทำการพิจารณาอย่างเหมาะสม เนื่องจากทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และบริษัทจะต้องทำการจัดสรรทรัพยากรที่มีในการจัดการกับประเด็นด้านความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักลงทุน ลูกค้า คู่ค้า เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้การจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (ESG Materiality) เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยบริษัทจัดเรียงความสำคัญประเด็นด้านความยั่งยืน โดยแนวคิดเรื่องประเด็นสำคัญทางธุรกิจ (Materiality) มีพื้นฐานมาจากการบัญชีและการเงิน โดยคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีและการเงินกำหนดประเด็นสำคัญทางธุรกิจให้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะถูกพิจารณาในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ส่วนในด้านของความยั่งยืน หรือ ESG ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนหมายถึงหัวข้อในด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่มีความสำคัญสูงสุดต่อธุรกิจของบริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ประเด็นต่าง ๆ ในด้าน ESG จะมีความสำคัญที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจหรือองค์กร เช่น ประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อม ในด้านการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในกลุ่มธุรกิจการบินมากกว่าธุรกิจธนาคารเป็นต้น นอกจากนั้นมีการศึกษาที่เผยว่าการลงทุนในประเด็นด้าน ESG บางประเด็นจะสามารถช่วยให้ธุรกิจมีผลการดำเนินงานด้านการเงินที่ดีมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการใช้ทรัพยากรในการลงทุนประเด็นด้าน ESG ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญของธุรกิจนั้น ๆ จะไม่สามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพทางการเงินที่ดีขึ้นได้ หรือแม้แต่อาจจะลดทอนประสิทธิภาพการทำงานลง

การประเมินประเด็นสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัท มีหลาย ๆ บริษัทได้นำ เครื่องมือการประเมินประเด็นสำคัญมาใช้ (Materiality Assessment) โดยบริษัทจะได้รับประโยชน์ที่หลากหลายจากกระบวนการการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน เช่น การเข้าใจความเสี่ยงทางด้าน ESG ของบริษัท (ESG Risk) โอกาส แนวโน้ม และการจัดการความเสี่ยงที่เป็นไปได้ขององค์กร ทั้งนี้ Global Reporting Initiative (GRI) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนระดับโลก ได้มีการกำหนดให้การวิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำในการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่มีความสอดคล้องกับ GRI โดยการประเมินประเด็นสำคัญทางธุรกิจ ต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือนักลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อที่บริษัทจะสามารถระบุและจัดลำดับประเด็นสำคัญทาง ESG ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทได้ โดยบริษัทอาจจะนำแนวทางจากองค์กรที่กำหนดมาตรฐานรายงานความยั่งยืนมาเป็นแนวทางในการทำรายงาน เช่น Task Force on Climate-related Financial Disclose (TFCD) และ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) ซึ่งเป็นองค์กรที่เสนอแนวทางในการรายงานประเด็นความยั่งยืน โดยได้แบ่งแนวทางต่าง ๆ ออกเป็นทั้งหมด 77 กลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

พื้นฐานในการทำกลยุทธ์ของบริษัทที่มีแนวคิดการดำเนินงานด้วยความยั่งยืนคือการระบุประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน เมื่อประเด็นสำคัญต่าง ๆ ถูกระบุแล้ว บริษัทควรจะมีการให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ และทำการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ การเงิน เวลา เพื่อที่จะสามารถจัดการกับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม บริษัทต้องมีแผนงาน (Roadmap) ที่ชัดเจน รวมถึงตัวชี้วัดประสิทธิภาพเชิงปริมาณ (Quantitative) เพื่อที่จะสามารถชี้วัดผลการปฏิบัติงาน และความรับผิดชอบขององค์กรในเรื่องความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross