CLOSE

NET ZERO ความท้าทายในการรักษาโลกใบนี้

 กาญจน์กมล พรมเหลา สถาบันวิทยาการจัดการ ทริส คอร์ปอเรชั่น

Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ให้น้อยมากที่สุดหรือใกล้เคียงกับศูนย์ และกำจัดก๊าซเรือนกระจกรวมถึงความร้อนที่มีอยู่บนชั้นบรรยากาศโดยใช้วิธีการดูดซับจากมหาสมุทรและพื้นที่ป่าไม้ แนวคิดเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เผยว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อรักษาโลกเพื่อให้มนุษย์ยังสามารถดำรงชีวิตได้ นานาประเทศจะต้องร่วมกันควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 รวมทั้งในปัจจุบันยังคงมีการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่องค์การสหประชาชาติ 197 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือที่จะควบคุมอุณหภูมิร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และการปล่อยมลพิษต่างๆ จะต้องลดลงร้อยละ 45 ภายในปี 2030 โดยเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2050



การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นแนวคิดที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างท้าทาย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรร่วมมือกันเพื่อให้เป้าหมายสำเร็จ โดยหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการคำนวณการปล่อยมลพิษขององค์กรคือวิธีการ Three-Scope Methodology ที่กำหนดโดย The Greenhouse Gas Protocol (GHG protocol) ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดกรอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานในการวัดและการจัดการก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรต่างๆ โดยขอบเขตที่หนึ่งหมายถึงการปล่อยมลพิษจากพลังงานที่บริษัทใช้ในพื้นที่ของตนเอง ขอบเขตที่สองครอบคลุมถึงการปล่อยมลพิษทางอ้อมจากสินทรัพย์ที่บริษัทเป็นเจ้าของหรือควบคุมอยู่ ขอบเขตที่สามเป็นการรวมถึงการปล่อยมลพิษทางอ้อมอื่นๆ ทั้งหมดจากห่วงโซ่อุปทานของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศต่างๆ ในการร่วมมือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ยังไม่เป็นผลมากนัก โดยข้อมูลจากสหประชาชาติ (พฤศจิกายน 2021) เผยว่าภายในปี 2030 จะมีการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นถึงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2010 และความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงร้อยละ 45 ภายในปี 2030 เพื่อควบคุมอุณภูมิโลกไม่ให้ร้อนกว่า 1.5 องศาเซลเซียสนั้นยังไม่มีความคืบหน้าที่เห็นได้ชัด โดยข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) เผยว่ามลพิษในโลกที่ถูกปล่อยส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรม โดยประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากถึงร้อยละ 46 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งหมด 100 ประเทศ และประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากในลำดับถัดมาคือ อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ความคืบหน้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ยังคงไม่เป็นที่พึงพอใจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการรักษาโลกใบนี้ให้มีสภาวะที่สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตได้เป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในทุกประเทศควรมีการร่วมมือกันในการแสดงความรับผิดชอบต่อด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง:
United Nations. Net Zero Coalition. Retrieved from United Nations website: https://www.un.org/en/climatechange/net-zero-coalition

Tamsin Walker. (2019, May 20). Oil giants face shareholder pressure on climate emissions, greenhouse gas targets. Retrieved from Deutsche Welle website: https://www.dw.com/en/oil-giants-face-shareholder-pressure-on-climate-emissions- greenhouse-gas-targets/a-48802418

BBC StoryWorks. The Journey to Carbon Net Zero. Retrieved from BBC website: http://www.bbc.com/storyworks/future/specials/transitioning-to-carbon-net-zero/the-carbon-net-zero-challenge/

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross