CLOSE

ภาพกิจกรรม ทริสจัดประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินผลโครงการงบบูรณาการ SME ปี 2563-2564

วันอังคาร ที่ 30 มีนาคม 2564 ห้อง Ballroom 3  ชั้น 4  โรงแรมคอนราด กรุงเทพ ทริสในฐานะที่ปรึกษา สสว. ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินผลโครงการงบบูรณาการ SME ปี 2563-2564 ใน โดยในการประชุมมีผู้บริหาร สสว. และหน่วยรับงบประมาณแผนงานบูรณาการส่งเสริม SME ปี 2563 – 2564 รวม  31 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 103 คน โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อการชี้แจงแนวทางในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานบูรณาการปี 2563 และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานปี 2564 เพื่อสะท้อนความสำเร็จตามแผนบูรณาการ SME  

โดย ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยได้ชี้แจงและให้นโยบายถึงสถานการณ์โควิด มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งการเปลี่ยนแปลงของมูลค่า GDP SMEs ที่สะท้อนถึงกำลังซื้อ สถานการณ์การตลาดและการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ที่ผ่านมา สสว. ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเป้าหมายของการผลักดันให้กลุ่มธุรกิจ SMEs อยู่รอดได้ในระยะยาว ทั้งในด้านการปรับตัวและฟื้นฟู การดำเนินผ่านแผนบูรณาการฯ ในปี 2563-2564 เกิดการมีส่วนร่วมกันในหลายกระทรวง ทบวง กรม เสมอมา และในปี 2565 สสว. จะมีการปรับทิศทางโดยมุ่งเน้นยุทธศาสตร์จัดสรรเป็นสำคัญ ด้วยนโยบายการส่งเสริม SMEs ให้ถูกต้องตรงจุด ครอบคลุมทุกทิศทางที่เป็นไปได้ตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทริสจะเป็นผู้สะท้อนสถานะการดำเนินงานที่เป็นไป สะท้อนภาพของความสำเร็จและช่วยมองถึงอุปสรรคปัญหาข้อเสนอแนะ เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง และหลังจากนั้นนางอภิรดี ขาวเธียร  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสว.ได้มีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ“มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ”: 

สำหรับการติดตามประเมินแผนงานบูรณาการส่งเสริม SME ในปี 2563 – 2564 นั้น ทริส นำโดย นายสรรเสริญ สงวนศักดิ์  รองกรรมการผู้จัดการ และนางสาวมัลลิกา ตราชู  รองผู้อำนวยการสายงาน

ที่ปรึกษา ได้นำเสนอแนวทางการติดตามและประเมินผล โดยนายสรรเสริญ สงวนศักดิ์  ได้ย้ำถึงเป้าหมายของประเทศในการส่งเสริม SME ในระยะยาว ตลอดจนการปรับแผนของประเทศจากสถานการณ์ COVID-19  แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ด้วยประเด็น “ล้มแล้วลุกไว (Resilience)” ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SME จะต้องร่วมผลักดัน และเป็นกรอบหลักที่ทริสจะนำมาใช้ในการออกแบบแนวทางในการประเมินผล และนางสาวมัลลิกา ตราชู  ได้นำเสนอประเด็นที่ทริสจะให้ความสำคัญเพิ่มเติมในการประเมินผลครั้งนี้ ประกอบด้วย 

  1. การสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของการขับเคลื่อน Agenda ต่างๆ ที่เป็นทิศทางการส่งเสริมพัฒนาของประเทศผ่านแผนงานบูรณาการฯ ปี 2563-2564   เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการและการจัดสรรงบประมาณในระยะต่อไป โดยในปีนี้ จะพิจารณาครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งจะพิจารณาความเหมาะสมของโครงการและการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐที่จะให้ธุรกิจสามารถปรับตัวเปลี่ยนได้ในสถานการณ์ COVID-19  เพื่อนำข้อมูลการจัดสรรงบประมาณไปใช้ในการพิจารณา การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ต่อไป
  2. ให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดสำคัญ ที่สะท้อนทิศทางการส่งเสริมตามนโยบายทั้งระดับผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ตลอดจนจะมีการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการคำนวณ GDP ที่เกิดจากแผนบูรณาการฯ ด้วย และในปีนี้ ที่ปรึกษาจะให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อตัวชี้วัดที่โครงการควรกำหนดในการติดตามประเมินผล รวมทั้งวิธีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้หน่วยงานมีการจัดเก็บข้อมูลเป็นไปตามหลักวิชาการ สามารถนำมารวมเป็นฐานข้อมูลเดียวกันได้
  3. ให้ความสำคัญกับการสะท้อนผลการขับเคลื่อนส่งเสริมว่ามีแผนงานโครงการไปสนับสนุนสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพื้นที่ภาค ได้มากน้อยเพียงใด
  4. ให้ความสำคัญกับการสะท้อนผลการขับเคลื่อนสาขาธุรกิจ (Sector)  นอกจากนั้น ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่พบว่าธุรกิจบางสาขาได้รับผลกระทบ ในขณะที่บางสาขาได้รับอานิสงค์หรือเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีโอกาส ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐต้องวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมพัฒนาในระดับกลุ่มสาขาธุรกิจให้มากขึ้น 
  5. ให้ความสำคัญกับการสะท้อนผลการส่งเสริมในจุดที่ยังเป็นช่องว่าง (GAP) และผลการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ 
  6. ให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนา : เพื่อให้ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาในโครงการต่างๆ สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาหรือไม่ มีความซ้ำซ้อนในการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกันในเรื่องเดียวกันมากน้อยอย่างไร 
  7. การวิเคราะห์ความเหมาะสมของบทบาทของหน่วยงานที่ให้การส่งเสริม SME  : เป็นการประเมินเพื่อวิเคราะห์ว่าหน่วยงานที่เข้าไปร่วมส่งเสริมพัฒนา ไปดำเนินการในบทบาทของหน่วยงานมากน้อยเพียงใด มีการบูรณาการมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ดำเนินการที่มีความซ้ำซ้อนนั้น ยังเป็นความต้องการของผู้ประกอบการหรือไม่ หรือปัจจุบันเพียงพอแล้ว  

กล่าวโดยสรุปในการติดตามประเมินผลครั้งนี้ ที่ปรึกษาจะให้ความสำคัญและมองวิเคราะห์ไปถึงสถานการณ์ของ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ตลอดจนมองในเชิงการพัฒนาส่งเสริมที่จะมองไปข้างหน้ามากกว่าเพื่อประเมินผลเพื่อทราบย้อนหลัง ตลอดจนการประเมินผลจะวิเคราะห์ครอบคลุมไปถึงนโยบายที่ภาครัฐสนับสนุนหรือได้ดำเนินการไปเพื่อแก้ไขปัญหาจากการได้รับผลกระทบผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งจากผู้ประกอบการโดยตรง และผู้บริโภค การออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง และแก้ไขปัญหาให้กับ SME  ตลอดจนการสะท้อนผลการประเมินเพื่อเชื่อมโยงความก้าวหน้าและความสำเร็จภายใต้ยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross