Home » Sustainable Innovation นวัตกรรมที่ยั่งยืน
กาญจน์กมล พรมเหลา สถาบันวิทยาการจัดการ ทริส คอร์ปอเรชั่น
นวัตกรรมที่ยั่งยืนถือเป็นความตั้งใจขององค์กรในความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในสินค้า บริการ หรือ กระบวนการดำเนินธุรกิจ ให้สามารถสร้างผลกระทบที่ดีในระยะยาวต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ในขณะเดียวกันยังคงสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับบริษัทได้เช่นกัน
ข้อมูลการศึกษาจาก Harvard Business Review เผยว่า ความยั่งยืนเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งในด้านยอดขายและผลตอบแทน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนได้อันเนื่องจากการลดการใช้วัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตลง นอกจากนี้กระบวนการนวัตกรรมที่ยั่งยืนยังสามารถช่วยองค์กรในการสร้างยอดขายที่มากขึ้นจากความต้องการในผลิตภัณฑ์หรืออาจช่วยองค์กรในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้
อย่างไรก็ตามการทำนวัตกรรมที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากต้องใช้เวลา ความมุ่งมั่น และความพยายามขององค์กร เมื่ออ้างอิงกรอบแนวคิดนวัตกรรมที่ยั่งยืนของนักวิจัย Richard Adams นวัตกรรมที่ยั่งยืนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน (Operational Optimization) 2) การเปลี่ยนแปลงเชิงองค์กร (Organizational Transformation) 3) การสร้างระบบ (System Building)
การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน (Operational Optimization) องค์กรสามารถปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจพื้นฐาน องค์กรสามารถค้นหาวิธี “ทำสิ่งเดิม แต่ทำให้ดีขึ้น” และลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือการลดบรรจุภัณฑ์) ซึ่งสามารถทำได้ค่อนข้างง่ายโดยการเพิ่มเกณฑ์พิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้ากับเกณฑ์คุณภาพหรือแนวทางการสร้างผลตอบแทนขององค์กร แนวทางประเภทนี้บางครั้งถูกเรียกว่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency)
การเปลี่ยนแปลงเชิงองค์กร (Organizational Transformation) สำหรับการยกระดับการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น องค์กรสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ตอบความต้องการของสังคม หรือผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนนี้จะมุ่งเน้นไปที่ “การทำความดีโดยการทำสิ่งใหม่” องค์กรที่มีการดำเนินงานด้วยแนวคิดดังกล่าวมักจะมองว่า แนวทางความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจ ตัวอย่างนวัตกรรมที่ยั่งยืนที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพที่ทำจากเศษกาแฟ หรือ Smart Phone ที่ถูกออกแบบมาให้แบ่งระบบต่างๆ ออกเป็นส่วนย่อยๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ ในการดำเนินการตามแนวคิดนี้องค์กรต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการทำสิ่งเดิมแต่ทำให้ดีขึ้นเป็นการทำสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม
การสร้างระบบ (System Building) เป็นรูปแบบขั้นสูงสุดของการทำนวัตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการร่วมมือกับผู้อื่นในการสร้างผลกระทบที่ดีต่อผู้คนและโลกใบนี้ องค์กรที่มีการดำเนินงานด้วยแนวคิดนี้มองตัวองค์กรว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และตระหนักว่าความยั่งยืนไม่สามารถสร้างได้โดยเพียงองค์กรเท่านั้น องค์กรจะตั้งเป้าในการ “การทำความดี โดยการทำสิ่งใหม่ร่วมกับผู้อื่น” องค์กรเหล่านี้จะขยายขอบเขตออกไป ไม่ได้เพียงเป็นพยายามสร้างความยั่งยืนด้วยตนเอง แต่จะมีการร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ในระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย
จากแนวคิดข้างต้น ทำให้เห็นว่าการทำนวัตกรรมที่ยั่งยืน มีสามประเภทที่แตกต่างกัน องค์กรควรมีการพิจารณาความพร้อมขององค์กร ข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงทรัพยากรขององค์กรที่มีอยู่ว่ามีความเหมาะสมในการที่จะรับแนวคิดนวัตกรรมที่ยั่งยืนประเภทใดที่มีความเหมาะสมกับสภาพขององค์กรในปัจจุบัน เช่น หากเป็นองค์กรขนาดเล็ก ยังขาดแคลนทรัพยากรบางอย่าง และยังใหม่ในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน การนำแนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานมาใช้จะมีความเหมาะสมกับบริบทขององค์กร เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทำนวัตกรรมที่ยั่งยืนสามารถทำได้ในหลายลักษณะ องค์กรสามารถเลือกรับแนวคิดแนวคิดนวัตกรรมที่ยั่งยืนประเภทต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละองค์กรได้
เอกสารอ้างอิง:
Ju Young Lee. (2021, October 19). What is Sustainable Innovation. Retrieved from Network for Business Sustainability website: https://www.nbs.net/articles/what-is-sustainable- innovation-and-how-to-make-innovation-sustainable
Richard Adams, Sally Jeanrenaud, John Bessant, David Denyer, Patrick Overy. (2015, May 17). Sustainability-oriented Innovation: A Systematic Review. Retrieved from Wiley Online Library website:https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/ijmr.12068
Ram Nidumolu, C.K. Prahalad, and M.R. Rangaswami. (2009, September). Why Sustainability Is Now the Key Driver of Innovation. Retrieved from Harvard Business Review website: https://hbr.org/2009/09/why-sustainability-is-now-the-key-driver-of-innovation
Trust in TRISคณะกรรมการบริษัทกรรมการผู้จัดการคณะผู้บริหารและที่ปรึกษาแผนผังองค์กรมาตรฐานเครือข่ายและพันธมิตร
ที่ปรึกษาพัฒนาองค์กรวิจัยและสำรวจข้อมูลฝึกอบรม พัฒนาสมรรถนะประเมินผลการดำเนินงาน
ข่าวประชาสัมพันธ์ข่าวกิจกรรม
บทความสื่อภาพสื่อวีดีโอ
ร่วมงานกับเราติดต่อเรา