CLOSE

Sustainable Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน)

กาญจน์กมล พรมเหลา
นักวิจัย สายงานกลยุทธ์และวิทยาการ ทริส คอร์ปอเรชั่น

ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) คือการบูรณาการแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมเข้ากับการดำเนินงานภายในห่วงโซ่อุปทาน ให้เกิดการคำนึงและตระหนักต่อผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) ตลอดห่วงโซ่อุปทานขององค์กร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถส่งมอบสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคได้และในขณะเดียวกันยังสามารถสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ข้อมูลจาก SAP Insight ได้ทำการสรุป 3 องค์ประกอบหลักของห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน คือ 1) ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) คือการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัสดุที่ใช้ การผลิต การขนส่ง และการจัดการผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน โดยองค์กรควรมีการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการ เพื่อที่จะสามารถลดของเสียในกระบวนการและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพที่จะส่งผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ 2) ห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใส (Transparent Supply Chain) หมายถึงความสามารถและความเต็มใจขององค์กรในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้า แรงงาน และวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และ 3) ห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียน (Circular Supply Chain) ในห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียนผลิตภัณฑ์จะถูกออกแบบมาให้ ถอดส่วนประกอบได้ หรือเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถอยู่ในรูปของวัตถุดิบได้ เพื่อที่จะสามารถนำวัตถุดิบนั้นนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขายได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรได้รับประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม จากการรีไซเคิลและยังสามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้

ทั้งนี้องค์กรจะสามารถได้รับประโยชน์อย่างหลากหลายจากการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ดังเช่น 1) ลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักจะเป็นวัตถุประสงค์หลักของการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน 2) ลดต้นทุนการดำเนินงาน จากผลการสำรวจในปี 2016 กับองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีโครงการในการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนพบว่า การที่คู่ค้าบริษัทต่างๆ สามารถลดการปล่อยมลพิษได้จะช่วยให้องค์กรลดต้นทุนได้มากถึง 12.4 พันล้านดอลลาร์ 3) ส่งเสริมชื่อเสียงที่ดีให้กับองค์กร การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยให้องค์กรหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อชื่อเสียงได้ องค์กรที่ไม่สามารถจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้าได้ อาจจะต้องเผชิญกับชื่อเสียงทางลบได้ โดยองค์กรควรจะมีการคำนึงถึงมิติทางด้านสังคม เช่น การกดขี่แรงงาน การจัดหาอย่างมีจริยธรรม เป็นต้น 4) ช่วยเพิ่มยอดขาย ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมีการพิจารณาถึงแหล่งที่มาของสินค้าหรือบริการที่ตนเองได้รับมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าร้อยละ 64 ของผู้บริโภคเชื่อว่าตนเองสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้ผ่านการซื้อสินค้าและบริการของพวกเขา ดังนั้นองค์กรควรมีการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับ ที่มาของวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ผลิตโดยใคร วิธีการขนส่ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากองค์กรเป็นที่รู้จักในเรื่องความยั่งยืนแล้ว องค์กรก็จะสามารถเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้ 5) สามารถดึงดูด รักษา และเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน พนักงานโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานกับบริษัทที่มีประวัติด้าน ESG ที่ดี จากการสำรวจของ PWC พบว่าสองในสามของผู้ตอบแบบสำรวจจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียงด้านลบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนจะช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดคนให้อยากมาเข้าร่วมทำงานมากขึ้น และรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้องค์กรประหยัดเงินต้นทุนการหาคนใหม่ และการลาออกของพนักงานลดลง

สิ่งสำคัญคือองค์กรควรมีการสื่อสารให้ผู้นำในองค์กรมีความเข้าใจและมีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน และมีการตั้งวัตถุประสงค์ในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน สามารถวัดได้ โดยกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรควรมีความสอดคล้องกับพันธกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กร นอกจากนั้นองค์กรยังควรมีการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนให้กับผู้บริโภคซึ่งเป็นส่วนปลายน้ำ ซึ่งเป็นความท้าทายขององค์กรในยุคใหม่ที่จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบของห่วงโซ่อุปทาน ในปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นตัวอย่างในการจัดการห่วงโซ่อุปทานได้ดีได้แก่ บริษัท Starbucks, Uniliver, Target, Colgate-Palmolive เป็นต้น (Convoy.com, 2021)

การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความตั้งใจและความมุ่งมั่นของทุกคนในองค์กร รวมถึง คู่ค้า และ ลูกค้าในการใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน หากทุกภาคส่วนมีความพยายามในการที่จะพัฒนาปรับปรุงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จะทำให้องค์กรสามารถประสบความสำเร็จในการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนได้

เอกสารอ้างอิง:

  • SAP Insights. What Is a Sustainable Supply Chain? Retrieved from SAP Insights website: https://insights.sap.com/what-is-a-sustainable-supply-chain/
  • Kezia Farnham. (2021, May 17). 9 Benefits of Supply Chain Sustainability for Boards. Retrieved from Diligent Corporation website: https://www.diligent.com/insights/esg/supply-chain- sustainability/
  • Jennifer Wong. (2021, January 22). Leaders in Sustainable Supply Chain. Retrieved from Convoy, Inc website: https://convoy.com/blog/sustainable-supply-chain-leaders/

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross